วงดนตรีไทยที่ควรรู้
วงปีพาทย์
วงดนตรีไทยประเภทหนึ่งซึ่งประกอบด้วยเครื่องเป่า คือ ปี่ ผสมกับเครื่องตี ได้แก่ ระนาดและฆ้องวงชนิดต่างๆ เป็นหลัก และยังมีเครื่องกำกับจังหวะ เช่น ฉิ่ง ฉาบ กรับ โหม่ง ตะโพน กลองทัด กลองแขก และกลองสองหน้า ปี่พาทย์นี้บางสมัยเรียกว่า “พิณพาทย์” วงปี่พาทย์อาจจำแนกประเภทแตกต่างกันไป แต่ที่พอจะรวบรวมได้มีทั้งสิ้น ๘ แบบ คือ
วงปี่พาทย์เครื่องห้า
วงปี่พาทย์เครื่องคู่
วงปี่พาทย์เครื่องใหญ่
วงปี่พาทย์นางหงส์
วงปี่พาทย์มอญ
วงปี่พาทย์ชาตรี
วงปี่พาทย์ดึกดำบรรพ์
วงปี่พาทย์เสภา
วงเครื่องสาย
วงดนตรีไทยประเภทหนึ่งซึ่งเครื่องดนตรีส่วนใหญ่ในวงจะประกอบด้วยเครื่อง ดนตรีที่ใช้สายเป็นต้นกำเนินของเสียงดนตรี เช่น ซอด้วง ซออู้ จะเข้ แม้ว่าเครื่องดนตรีที่นำมาบรรเลงนั้นจะมีวิธีบรรเลงแตกต่างกัน เช่น สี ดีด หรือตีก็ตาม จึงเรียกวงดนตรีประเภทนี้ว่า “วงเครื่องสาย” วงเครื่องสายอาจมีเครื่องดนตรีประเภทเครื่องเป่า เช่น ขลุ่ย หรือเครื่องกำกับจังหวะ เช่น ฉิ่ง กลองบรรเลงด้วยก็ถือว่าอยู่ในวงเครื่องสายเช่นกัน เพราะมีเป็นจำนวนน้อยที่นำเข้ามาร่วมบรรเลงด้วยเพื่อช่วยเพิ่มรสในการบรรเลงให้น่าฟังมากยิ่งขึ้น วงเครื่องสายเกิดขึ้นในสมัยอยุธยา ซึ่งมีเครื่องสี คือ ซอ เครื่องดีด คือ จะเข้และกระจับปี่ผสมในวง ปัจจุบันวง เครื่องสายมี ๔ แบบ คือ
วงเครื่องสายไทยเครื่องเดี่ยว
วงเครื่องสายไทยเครื่องคู่
วงเครื่องสายผสม
วงเครื่องสายปี่ชวา
วงมโหรี
วงมโหรี เป็นวงดนตรีไทยที่มีวิวัฒนาการสืบเนื่องมาอย่างยาวนาน จัดเป็นการประสมวงที่มีความสมบูรณ์ในด้านเสียงสูงสุด กล่าวคือ เป็นการรวมเอาเครื่องดนตรีทำทำนองของวงปี่พาทย์ที่มีเครื่องตี คือ ระนาดเอก ระนาดทุ้ม ระนาดเอกเหล็ก ระนาดทุ้มเหล็ก ฆ้องวงใหญ่ ฆ้องวงเล็ก ร่วมกับเครื่องดนตรีในวงเครื่องสายที่มีเครื่องดีด คือ จะเข้ เครื่องสี คือ ซอด้วง และซออู้ และเครื่องเป่า คือ ขลุ่ย เอาไว้ด้วยกัน การนำเอาวงปี่พาทย์และวงเครื่องสายมารวมกันนี้ ทำให้วงมโหรีเป็นการรวมกันของเครื่องดนตรีทุกตระกูล คือ ดีด สี ตี และเป่า มารวมอยู่ในวงเดียวกันได้อย่างลงตัว ละเอียดอ่อนแลละเมียดละไม มีแนวทางการบรรเลงที่นุ่มนวล ไพเราะ นิยมใช้บรรเลงในพิธีการที่ศักดิ์สิทธิและเป็นมงคลต่างๆ
วงมโหรีเครื่องสี่ (สมัยกรุงศรีอยุธยา)
วงมโหรีเครื่องห้า (สมัยกรุงศรีอยุธยา)
วงมโหรีเครื่องหก (สมัยกรุงศรีอยุธยา)
วงมโหรีเครื่องสิบ (สมัยกรุงศรีอยุธยา)
วงมโหรีสมัยกรุงธนบุรี
วงมโหรีสมัยรัชกาลที่ ๑ (วงมโหรีเครื่องแปด)